แนะนำวิธี การทำงานกับไฟฟ้า อย่างไรเพื่อให้เกิดปลอดภัย
การทำงานกับไฟฟ้า เป็นการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น การติดตั้ง การบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าในอาคาร การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า การซ่อมแซมและการแก้ไขปัญหาระบบไฟฟ้า ซึ่งตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 ได้ให้ความหมายของการปฏิบัติงานกับไฟฟ้าไว้ว่า “ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานกับไฟฟ้า” หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือหน้าที่อื่นในลักษณะเดียวกัน กับระบบไฟฟ้า บริภัณฑ์ไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรเกี่ยวกับไฟฟ้าสิ่งสำคัญ คือ ต้องปฏิบัติตามแนวทางและขั้นตอนด้านความปลอดภัยเมื่อทำงานกับไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้ามีอันตรายหากผู้ปฏิบัติงานไม่มีความรู้และใช้งานไม่ถูกวิธี
ขั้นตอนการทำงานกับไฟฟ้าอย่างปลอดภัย
การทำงานกับไฟฟ้ามักมีอันตรายแอบแฝงอยู่ หากผู้ปฏิบัติงานละเลยต่อขั้นตอนการทำงาน ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนพื้นฐานในการทำงานกับไฟฟ้าอย่างปลอดภัยที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ควรมองข้าม
- รู้จักอันตราย : ผู้ปฏิบัติงานต้องรู้จักอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ทำงานกับไฟฟ้า เพราะหากรู้ว่าอันตรายจากไฟฟ้ามีอะไรบ้าง ก็จะตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสม : สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสมตลอดเวลาที่ทำงานกับไฟฟ้า เช่น ถุงมือหนัง ถุงมือยาง แขนเสื้อยาง หมวกนิรภัย รองเท้าพื้นยางหุ้มข้อชนิดมีส้นหรือรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น รวมถึงจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าที่เหมาะสมกับลักษณะงาน เช่น แผ่นฉนวนไฟฟ้า ฉนวนหุ้มสาย ฉนวนครอบลูกถ้วย กรงฟาราเดย์ ชุดตัวนำไฟฟ้า
- ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสม : ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับงานไฟฟ้าโดยเฉพาะและตรวจสอบให้แน่ใจว่าอยู่ในสภาพดีสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
- ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย : ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบระบบไฟฟ้าเป็นประจำ : ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาความเสียหายหรือการเสื่อมสภาพของระบบและอุปกรณ์ หากพบว่าไม่พร้อมใช้งานให้รีบซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่โดยทันที
- ตัดแหล่งพลังงาน : ก่อนการทำงานกับระบบไฟฟ้าหรือบริภัณฑ์ไฟฟ้า ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ตัดแหล่งพลังงานและใช้ระบบ Logout – Tagout เพื่อป้องกันการจ่ายพลังงาน
- ระมัดระวังเมื่อต้องทำงานใกล้น้ำ : น้ำและไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้ากันได้ เมื่อต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ต้องเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟให้ห่างจากแหล่งน้ำอยู่เสมอ
- การฝึกอบรม : ผู้ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำงานกับไฟฟ้าอย่างปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเป็นงานที่มีอันตรายสูงไม่ใช่ว่าใครจะทำก็ได้ โดยหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ได้ถูกกำหนดไว้ใน ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า สำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า โดยมีรายละอียดหัวข้อการฝึกอบรม ดังนี้
- กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า
- สาเหตุและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
- การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นซึ่งมีระยะเวลาฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และหากมีความเสี่ยงอื่นร่วมด้วย เช่น การทำงานบนที่สูง ต้องจัดให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมเกี่ยวกับความเสี่ยงเพิ่มเติม
อันตรายจาก การทำงานกับไฟฟ้า
การทำงานกับไฟฟ้าอาจทำให้เกิดอันตรายได้หากไม่มีการป้องกันหรือมีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานกับไฟฟ้า ได้แก่
- ไฟฟ้าช็อต : ความเสี่ยงจากไฟฟ้าช็อต มาจากการสัมผัสกับสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้า และหากกระแสไฟฟ้าสูง อาจถูกช็อต อย่างรุนแรงทำให้หัวใจหยุดเต้นและนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- แผลไหม้ : กระแสไฟฟ้าที่ผ่านร่างกายสามารถทำให้เกิดแผลไหม้ที่บริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อภายในได้
- ไฟไหม้และการระเบิด : หากระบบไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าถูกใช้อย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดไฟไหม้และเกิดการระเบิดตามมาได้
เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดเมื่อต้องทำงานกับไฟฟ้า รวมถึงการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ppe ให้ครบถ้วนตามที่กำหนด และ ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการทำงานกับไฟฟ้าตามกฎหมาย
อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล PPE ใน การทำงานกับไฟฟ้า
อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) หมายถึง อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติงาน โดยออกแบบมาเพื่อป้องกันอันตรายจากการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยที่รุนแรงให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่ง PPE มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ทำและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดย PPE ที่เกี่ยวข้องกับงานไฟฟ้า ได้แก่
- หมวกนิรภัย
- ถุงมือยางป้องกันไฟฟ้า ต้องสวมกับนิ้วมือได้ทุกนิ้ว
- ถุงมือหนังใช้สวมทับถุงมือยาง ต้องมีความยาวหุ้มถึงข้อมือและมีความคงทนต่อการฉีดขาดได้ดี และการใช้ถึงมือยางต้องใช้ร่วมกับถุงมือหนังทุกครั้ง
- แขนเสื้อยาง
- รองเท้าพื้นยางหุ้มข้อชนิดมีส้นหรือรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น
นอกจากนี้อาจมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายชนิดอื่นให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่ ขึ้นอยู่กับลักษณะของอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น หากต้องปฏิบัติงานในที่สูงกว่าพื้นตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ต้องมีสายหรือเชือกช่วยชีวิตและเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์ป้องกันการตกที่มีประสิทธิภาพ หากอยู่ใกล้หรือเหนือน้ำต้องมีชูชีพกันจมน้ำ แต่อุปกรณ์นั้นต้องไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น
ที่สำคัญอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่นำมาใช้งานต้องได้รับมาตรฐานถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องดูแลรักษาอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าต้องตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นการตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อดูว่าระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ หากพบว่าชำรุดหรือมีกระแสไฟฟ้ารั่ว หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งาน ให้ซ่อมแซมหรือดำเนินการให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
นอกจากการตรวจสอบแล้วต้องบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งในการตรวจสอบประจำปีต้องให้บุคคลที่ ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 11 เป็นผู้ดำเนินการ และจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองไว้ด้วย
สรุป
งานที่ทำเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการทำงานดังกล่าว โดยต้องมีขั้นตอนการทำงานและมาตรการด้านความปลอดภัยที่ครบถ้วน และต้องควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และนอกจากการตรวจสอบประจำปีแล้ว ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านไฟฟ้าโดยตรงยังสามารถตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตนเองเพื่อดูสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้า หากพบว่าชำรุดจะได้รีบดำเนินการแก้ไขเพื่อป้องกันก่อนเกิดเหตุ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า สำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า