การปฏิบัติงานโดยตระหนักถึง ความปลอดภัยในอุตสาหกรรม สำคัญอย่างไร
ความปลอดภัยในอุตสาหกรรม คือ สิ่งที่ต้องพึงตระหนักเป็นอย่างมาก ในการทำงานอุตสาหกรรม หากพูดถึงการปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากผลตอบแทนและสวัสดิการที่ผู้ปฏิบัติงานคาดหวังแล้ว
เรื่องของความปลอดภัยในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้เช่นกัน เพราะหากพื้นที่การทำงานมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ก็อาจส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตรายได้เช่นกัน ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งของนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ
1. ความปลอดภัยในอุตสาหกรรม คืออะไร
แนวคิดของความปลอดภัยในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการลดอันตรายจากอุตสาหกรรมต่างๆ สถานการณ์ทางกายภาพหรือทางเคมี ที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของบุคคลหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของบุคคล เรียกว่าอันตราย ซึ่งอันตรายอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยหรือภัยคุกคามบางประเภท เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุในอุตสาหกรรมหลายล้านครั้งทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือความพิการชั่วขณะหรือถาวรของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นสาเหตุของความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน และทำให้สูญเสียวันทำงานของผู้ปฏิบัติงานและเครื่องจักรทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ จึงทำให้ความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมมีความสำคัญมากขึ้น
2. เป้าหมายด้านความปลอดภัยในอุตสาหกรรม คืออะไร
เมื่อพูดถึงเป้าหมายด้านความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งที่ต้องนึกถึง คือ “อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์” ซึ่งเป็นที่ต้องการของสถานประกอบกิจการทุกแห่ง เพราะหากมีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ไม่ดีพอ และนอกจากเป้าหมายดังกล่าวแล้วยังมีเป้าหมายต่างๆ ด้านความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม มีดังต่อไปนี้
- การมีข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทุพพลภาพของพนักงานในองค์กร ความเสียหายต่อเครื่องจักรและวัสดุซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียระดับองค์กรได้
- เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียลูกค้าเนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการและผลผลิตที่ลดลง
- เพื่อควบคุมระดับอันตรายให้อยู่ในระดับต่ำสุดและหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
- เพื่อให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุลดลง เช่น ค่าชดเชย ค่าเบี้ยประกัน หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุ
- สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องให้พนักงานตระหนักถึงแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่แตกต่างกัน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน
- เพื่อให้พนักงานมีขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น
3. ความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมมีความสำคัญอย่างไร
ความสำคัญของความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมนอกจากจะป้องกันไม่ให้มีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้นแล้ว การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ดี ยังมีความสำคัญดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงหรือลดการเกิดอุบัติเหตุหากโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมได้รับการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความร่วมมือด้านความปลอดภัยของพนักงานทุกคนสามารถช่วยหลีกเลี่ยงหรือลดการเกิดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานได้
- ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดอุบัติเหตุการลดหรือหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อมประเภทต่างๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเกิดอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมในองค์กร ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยตรงของอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเป็นเงินชดเชยทั้งหมดที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับพนักงานที่ได้รับการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตในการปฏิบัติงาน ในทางกลับกันต้นทุนทางอ้อมคือต้นทุนที่เกิดขึ้นในการจ่ายค่ารักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งหากมีการจัดการด้านความปลอดภัยที่ดีไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้น สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ในส่วนนี้ได้
- ทำให้พนักงานมีความพึงพอใจและเชื่อมั่นความร่วมมือและความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยของพนักงานทุกคน สามารถสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีได้ หากมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีแรงจูงใจและความพึงพอใจมากขึ้น การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่คาดหวังจากนายจ้าง และยังสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้ปฏิบัติงานว่าพวกเขาจะทำงานด้วยความปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้หากนายจ้างปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย
- การปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัย จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง และนายจ้างยังมีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
สรุป
ความปลอดภัยในการทำงานเป็นสิ่งที่คาดหวังทั้งของนายจ้างและลูกจ้างเพราะหากสภาพแวดล้อมในการทำงานมีความปลอดภัยผู้ปฏิบัติงานก็สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยส่วนนายจ้างเองก็ได้ผลผลิตตรงตามที่วางแผนไว้ไม่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงักเพราะหากมีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลเสียต่อนายจ้างเองซึ่งความปลอดภัยเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องช่วยกันรับผิดชอบไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554